ความรู้อุตุนิยมวิทยา

ความกดอากาศ

บริเวณความกดอากาศสูง (High Pressure Area หรือ High) หรือแอนติไซโคลน (Anitcyclone)

บริเวณความกดอากาศสูงหรือแอนติไซโคลน คือ บริเวณที่มีความกดอากาศสูงกว่าบริเวณใกล้เคียงที่อยู่รอบๆ ในแผนที่อากาศผิวพื้น แสดงด้วยเส้นความกดอากาศเท่าเป็นวงกลมหรือเป็นวงรีรูปไข่ล้อมรอบ บริเวณที่มีความกดอากาศสูง นั่นคือบริเวณความกดอากาศสูงหรือแอนติไซโคลน จะเป็นบริเวณที่มีความกดอากาศสูงขึ้นจากขอบนอกเข้าสู่ศูนย์กลาง บริเวณความกดอากาศสูงหรือแอนติไซโคลนนี้จะมีกระแสลมพัดออกจากศูนย์กลางในทิศทางตามเข็มนาฬิกาในซีกโลกเหนือ และทิศทางทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกใต้ การเคลื่อนไหวของอากาศรอบศูนย์กลางบริเวณความกดอากาศสูงหรือแอนติไซโคลนเช่นนี้ เรียกว่า Anitcyclonic Circulation
โดยทั่วไปในบริเวณความกดอากาศสูงหรือแอนติไซโคลนลมอ่อนและลมมักสงบในบริเวณใกล้ศูนย์กลาง มีเมฆเพียงเล็กน้อย แต่อาจมีเมฆมากกับฝนได้ตามขอบของบริเวณความกดอากาศสูงหรือแอนติไซโ๕ลนที่อยู่ใกล้กับแนวปะทะอากาศ
ในซีกโลกเหนือทางตะวันออกของบริเวณความกดอากาศสูงหรือแอนติไซโ๕ลน อากาศจะเย็นที่ผิวพื้นและเป็นลมฝ่ายเหนือพัดผ่าน เรียกบริเวณความกดอากาศสูงหรือแอนติไซโคลนชนิดนี้ว่า Cold High ส่วนทางด้านตะวันตก อากาศจะค่อนข้างร้อนและเป็นลมฝายใต้พัดผ่าน เรียกบริเวณความกดอากาศสูงหรือแอนติไซโคลนชนิดนี้ว่า Warm High บริเวณความกดอากาศสูงหรือแอนติไซโคลนชนิด Cold High แผ่ลงมาเมื่อไรอากาศจะหนาวเย็น ส่วน Warm High อากาศจะร้อนเนื่องจากลมพัดมาจากทางใต้ แม้ว่าจะมีความชื้นสูงแต่ไม่มีฝนตก จะทำให้อากาศร้อนอบอ้าว บางครั้งเรียกว่า คลื่นความร้อน (Heat Wave)

บริเวณความกดอากาศต่ำ ( Low Pressure Area หรือ Low )

บริเวณความกดอากาศต่ำ คือ บริเวณที่มีความกดอากาศต่ำกว่าบริเวณใกล้เคียงที่อยู่รอบๆในแผนที่
อากาศผิวพื้นแสดงด้วยเส้นความกดอากาศเท่าเป็นวงกลมล้อมรอบบริเวณทีทมีความกดอากาศต่ำ นั่นคือ บริเวณความกดอากาศต่ำจะเป็นบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำลงจากขอบนอกเข้าสู่ศูนย์กลาง บริเวณความกดอากาศต่ำนี้จะมีกระแสลมพัดเข้าหาศูนย์กลางในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกเหนือ และในทิศทาง ตามเข็มนาฬิกาในซีกโลกใต้ การเคลื่อนไหวของอากาศรอบศูนย์กลางบริเวณความกดอากาศต่ำเช่นนี้ เรียกว่า Cyclonic Circulation ตามปกติในบริเวณความกดอากาศต่ำจะมีเมฆมากและมีฝนตกด้วยบริเวณความกดอากาศต่ำ แบ่งออกได้ 2 ชนิด
1.Cold Core ที่แกนกลางของความกดอากาศต่ำชนิดนี้ อุณหภูมิจะต่ำกว่าภายนอก และเกิดในแถบละติจูดสูงๆ ที่อากาศเย็น เมื่อเกิดขึ้นแล้วการหมุนเวียนจะต่อเนื่องกัน ความชันของความกดจะเพิ่มมากขึ้นตามความสูงซึ่งสัมพันธ์กับกระแสลม นั่นคือ บริเวณความกดอากาศต่ำชนิด Cold Core จะมีลมพัดแรงขึ้นตามความสูง และมักมีแนวปะทะอากาศขึ้นร่วมด้วยเสมอ
2.Warm Core ที่แกนกลางของความกดอากาศต่ำชนิดนี้ อุณหภูมิจะร้อนกว่าภายนอก การหมุนเวียนจะเหมือนกับชนิด Cold Core และมีเฉพาะในเขตร้อนเท่านั้น เนื่องจากแกนกลางร้อน ฉะนั้นอากาศที่เย็นกว่าจะพัดเข้าแทนที่จมเข้าหาศูนย์กลาง ทำให้เกิดกระแสลมพัดเวียนเป็นก้นหอยเข้าหาศูนย์กลาง ขณะเดียวกันอากาศตรงกลางจะลอยตัวขึ้น ความชันของความกดตามระดับความสูงจะลดลง นั่นคือ ลมที่พัดเวียนเข้าหาศูนย์กลางรอบบริเวณความกดอากาศต่ำชนิด Warm Core ความเร็วลมจะลดลงตามความสูง พายุจะรุนแรงที่สุดที่ผิวพื้นเท่านั้น สูงขึ้นไปลมกำลังอ่อนลง
บริเวณความกดอากาศต่ำทั้ง 2 ชนิด เกิดฝนตกหนักเท่าๆ กัน แต่ความเร็วลมจะต่างกัน

ร่องความกดอากาศต่ำ (Intertropical Convergence Zone – ITCZ ) หรือ ร่องมรสุม (Monsoon Trough)

ร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องมรสุมนี้ มีชี่อเรียกในภาษาอังกฤษหลายชื่อด้วยกัน เช่น Intertropical Convergence Zone , Equatorial Trough หรือ Monsoon Trough เป็นต้น เป็นโซนหรือแนวแคบๆ ที่ลมเทรดหรือลมค้าในเขตร้อนของทั้ง 2 ซีกโลกมาบรรจบกัน คือลมค้าตะวันออกเฉียงเหนือของซีกโลกเหนือกับลมค้าตะวันออกเฉียงใต้ของซีกโลกใต้
ร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องมรสม มีลักษณะเป็นแนวพาดขวางในทิศตะวันออก-ตะวันตก ในร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องมรสุมเป็นบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำ มีกระแสอากาศไหลขึ้น-ลงสลับกัน ร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องมรสุมจะอยู่ในเขตร้อนใกล้ๆ เส้นศูนย์สูตร และจะมีการเลื่อนข้น –ลงตามแนวโคจรของดวงอาทิตย์โดยจะล้าหลังประมาณ 1-2 เดือน ความกว้างของร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องมรสุมประมาณ 6-8 องศาละติจูด เป็นบริเวณที่มีเมฆมากและฝนตกอย่างหนาแน่น ฉะนั้น เมื่อร่องนี้ประจำอยู่ที่ใดหรือผ่านที่ใดก็จะทำให้ที่นั้นฝนตกอย่างหนาแน่นได้

Style Setting

Fonts

Layouts

Direction

Template Widths

px  %

px  %